20 ศัพท์อาหารใต้




20 ศัพท์อาหารใต้ แหลง(พูด)ได้ หรอยอย่างแรง นิ!
เข้าถึงคนใต้ด้วย 20 ศัพท์อาหารใต้ ใครอยากทานอาหารใต้ให้หรอยอย่างแรง ต้องลองแหลงใต้ สั่งอาหารภาษาใต้ดูเลย!
6 มี.ค. 2017 · โดย Happy Bunny

อาหารใต้ ได้ทานแล้วจะต้องติดใจค่ะ ด้วยความเข้มข้นถึงเครื่อง เผ็ดร้อนถึงใจ ทำให้เจริญอาหารดีนักแล แต่เพื่อนๆ ต่างถิ่นอาจจะไม่รู้
คำศัพท์อาหารใต้ บางครั้งเพื่อนพูดใต้กันออกรสออกชาติ ดูน่าสนุกดีนะคะ แต่ก็แอบงง ฟังไม่รู้เรื่องบ้างหละ พูดสั้นพูดห้วนบ้างหละ โดยเฉพาะศัพท์อาหารใต้ยิ่งแล้วใหญ่ วันนี้วงในหาดใหญ่จัดมาให้ 20 คำศัพท์อาหารใต้ ถ้าแหลงได้ รับรอง..หรอยอย่างแรงเลยนิ! ไม่เชื่อลองออกเสียงตามกันดูค่ะ


1ผักเหนาะ

จะทานอาหารใต้ทั้งที สิ่งแรกที่ควรรู้จักเลยก็คือ ผักเหนาะหรือผักสดค่ะ เป็นผักที่ใช้ทานเคียงกับน้ำพริก แกงเผ็ด และอาหารใต้ต่างๆ เนื่องจากเป็นอาหารรสจัด จึงมักแกล้มด้วยผักสด ไม่ว่าจะเป็นแตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วพลู มะเขือ ใบมันปู ใบบัวบก ใบมะกอก ยอดหมุย ลูกเนียง ฯลฯ แนะนำว่าให้ล้างให้สะอาด ผ่านน้ำหลายๆ ครั้งนะคะ จะได้ไม่มีสารพิษตกค้าง


2ใบเหลียงต้มกะทิ

นอกจากผักสดแล้ว คนใต้ก็นิยมนำผักต่างๆ มาต้มกะทิ เพิ่มความมัน กลมกล่อม โดยเฉพาะเมนูนี้ ใบเหลียงต้มกะทิกุ้งสด รสชาติกลมกล่อม เค็มๆ หวานๆ มันๆ นอกจากนี้ยังมี ผักกูด หยวกกล้วย หน่อไม้ กะหล่ำปลี ผักบุ้ง สามารถนำมาต้มกะทิได้เหมือนกัน ตามชอบเลยค่ะ ทานกับน้ำพริก อร่อยมากๆ ขอบอก


3สะตอเผา/สะตอหมก

อีกหนึ่งผักพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวใต้ “สะตอ” ซึ่งบางคนก็ชอบ ส่วนบางคนอาจจะทานแล้วไม่ชอบ เนื่องจากมีกลิ่นของสะตอค่อนข้างมีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว ซึ่งถ้านำสะตอมาเผาทั้งฝัก จะทำให้สะตอมีความหอม มันยิ่งขึ้น และกลิ่นจะฉุนน้อยลงค่ะ กินแกล้มกับน้ำพริก หรือแกงรสจัดก็เข้ากันได้ดีทีเดียว


4น้ำพริก

น้ำพริก คนท้องถิ่นมักจะเรียกว่า น้ำชุบ เพราะสามารถนำผักลงไปชุบหรือจุ่มลงในน้ำพริก ยกขึ้นมาทานได้เลย เป็นอาหารที่เรียกได้ว่า ต้องมีอยู่ทุกโต๊ะของการทานอาหารใต้ ทำง่ายไม่ยุ่งยาก เพียงนำ พริกขี้หนู หอม กระเทียม กะปิ โขลกให้เข้ากันปรุงรสด้วย น้ำปลา น้ำมะนาว และน้ำตาลปี๊บ ทานคู่กับผักสด ผักลวก ชะอมไข่ มะเขือชุบไข่ทอด และปลาทู ซึ่งน้ำพริกที่ได้รับความนิยมก็มีหลากหลายไม่ว่าจะเป็น น้ำพริกกะปิ น้ำพริกแมงดา น้ำพริกกุ้งเสียบ ฯลฯ


5น้ำชุบเคย

น้ำชุบเคย หรือน้ำชุบโจร ก็คือน้ำพริกกะปิทั่วไป แต่จะมีลักษณะเป็นน้ำขลุกขลิกแต่หยาบกว่าปกติ เพราะใช้วิธีการหั่นหรือสับ การที่เรียกว่าน้ำชุบโจร คือทำนองว่าเป็นวิธีการทำน้ำพริกของพวกโจร ซึ่งเป็นพวกที่ต้องหลบซ่อนอยู่ตามป่าเขาจึงไม่มีเครื่องครัวสมบูรณ์เมื่อจะทำน้ำพริกกินจึงทำแบบหยาบๆ รวดเร็ว ง่ายๆ นั่นเองค่ะ


6แกงพุงปลา/ แกงไตปลา

แกงไตปลา คนท้องถิ่นมักเรียกว่า แกงพุงปลา เป็นการถนอมอาหารแบบหมักดองชนิดหนึ่ง โดยใช้กระเพาะของปลา เช่น ปลาทู ปลาดุก ปลาช่อน หรือปลาอื่นๆ มาหมักกับเกลือ โดยนำขี้และดีออกจากกระเพาะก่อน หมักไว้ 10-30 วัน เป็นอันใช้ได้ค่ะ แกงไตปลาจะมีรสชาติเผ็ดเค็มจัดจ้าน โดยทั่วไปจะใส่ปลาย่าง มันเทศ ฟักทอง ถั่วฝักยาว ทานคู่กับไข่เจียว และแกล้มกับผักสด เด็ดมากๆ ค่ะ


7แกงส้ม

คนท้องถิ่นจะเรียกว่า แกงส้ม คนภาคกลางบ้างเรียกว่า แกงเหลือง เป็นอาหารปักษ์ใต้ที่มีรสเปรี้ยว เผ็ด เค็ม นิยมแกงกับ ปลากด ปลาขี้ตัง ปลากะพง หรือกุ้งสด ส่วนผักที่ใช้จะเป็นยอดมะพร้าว ผักบุ้ง มะละกอ มันขี้หนู ฯลฯ เติมความเปรี้ยวด้วยน้ำมะขามเปียก แน่นอนว่าให้อร่อยต้องทานกับ ไข่เจียวและผักสดอีกเช่นเคย


8คั่วกลิ้ง

คั่วกลิ้ง สามารถทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก เพียงใช้เนื้อสัตว์ต่างๆ ตามชอบค่ะ หมูชิ้น หมูสับ ไก่ หรือเนื้อ ผัดกับเครื่องแกงเผ็ดแบบฉบับชาวใต้ ผัดคั่วให้แห้ง โรยด้วยใบมะกรูด รสชาติออกเค็มๆ และมีความเผ็ดร้อนของเครื่องแกงค่ะ ทานกับข้าวสวยร้อนๆ และแตงกวาแช่เย็นๆ อร่อยเลย


9หมูผัดเคยฉลู

หมูผัดเคยฉลู อาหารปักษ์ใต้ดั้งเดิมแบบฉบับชาวตรัง ใช้กะปิพื้นเมืองที่ทำมาจากกุ้ง เรียกว่า ‘กะปิน้ำ’ หรือ ‘เคยฉลู’ นำมาผัดกับหมูสามชั้น เคล้ากับตะไคร้และพริกขี้หนูเขียว รสชาติกลมกล่อม หาทานยาก หากใครอยากทานแนะนำให้มาทานได้ที่หาดใหญ่เลยนะคะ


10แกงคั่ว

แกงคั่วหอยแครงใบชะพลู เมนูเด็ดปักษ์ใต้ มีความข้นของกะทิและความเผ็ดร้อนของเครื่องแกงใต้ นิยมใส่หอยแครง หอมขม หรือเนื้อปูก้อน ซึ่งใบชะพลู ก็คือใบที่เรานำมาทานกับเมี่ยงคำนั่นเอง มีสรรพคุณทางยามากมายค่ะ แกงคั่วจะมีความเผ็ดร้อนเข้มข้น ทานคู่กับข้าวหรือขนมจีนก็ได้ค่ะ


11ผัดสะตอกุ้งสด

เมนูนี้เชื่อว่าเป็นเมนูที่รู้จักกันดีและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ผัดสะตอกุ้งสด มีกลิ่นของสะตอที่เป็นเอกลักษณ์ มีความหอมกะปิ รสชาติกลมกล่อม เค็ม เปรี้ยว หวาน ได้ความกรุบกรอบและความมันจากสะตอ จะใส่กุ้งสด หรือหมูสามชั้น ก็ตามใจชอบเลยค่ะ


12ขนมจีนน้ำยา

หนมจีน หรือขนมจีน นิยมทานเป็นอาหารเช้าและเที่ยงของทางภาคใต้ค่ะ ราดด้วยน้ำยากะทิ น้ำพริก แกงไตปลา หรือแกงเขียวหวาน ทานกับไข่ต้ม และผักสดชนิดต่างๆ 


อาหารใต้ ไม่ได้มีเพียงแต่อาหารเผ็ดๆ เท่านั้นนะคะ เรามาพูดถึงอาหารที่ไม่เผ็ดกันบ้างดีกว่า

13แกงเลียง

แกงเลียง เป็นแกงไทยโบราณ ที่มีน้ำแกงค่อนข้างใส รสชาติเค็มพอดี มีรสเผ็ดร้อนจากพริกไทย แต่ไม่เผ็ดจัดจนเกินไป เครื่องแกงเลียงมีพริกไทย หอมแดงและกะปิเป็นหลักค่ะ โดยจะเน้นที่ผักมากกว่าเนื้อสัตว์ ส่วนใหญ่เป็นผักพื้นบ้าน ที่หาง่าย เช่น ฟักทอง บวบ น้ำเต้าอ่อน ตำลึง หัวปลี และผักที่ขาดไม่ได้คือใบแมงลักซึ่งทำให้แกงเลียงมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์


14ต้มส้มปลากระบอก

ต้มส้มปลากระบอก เป็นเมนูพื้นบ้านที่มีรสชาติเปรี้ยวหวานเค็ม กลมกล่อม หากทานแบบฉบับใต้แท้ๆ ต้องได้ความเปรี้ยวที่แตกต่างจากน้ำมะขามเปียก คือน้ำส้มตาลโตนดค่ะ

น้ำส้มโหนด คือ น้ำส้มสายชูหมัก เป็นการทำน้ำตาลหวาน ให้เป็นน้ำตาลเปรี้ยว ที่ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำส้มโหนด” โดยการหมักแช่ เป็นภูมิปัญญาในการแปรรูปอาหารของชาวบ้านสทิงพระที่สืบทอดกันมายาวนานหลายชั่วคน ซึ่งจะนิยมใช้ในการปรุงแต่งรสอาหารพื้นบ้าน เช่น แกงส้ม ต้มส้ม น้ำจิ้ม และอาจาด เป็นต้น


15ไก่ต้มขมิ้น

ไก่ต้มขมิ้น เป็นซุปไก่ชนิดหนึ่ง ที่มีความหอมของขมิ้น และความหวานของเนื้อไก่บ้าน เป็นไก่ที่เลี้ยงตามบ้านโดยธรรมชาติ มีเนื้อเหนียว แต่มีความลีน ไขมันน้อย 


16ผัดผักเหลียง

ผักเหลียง นิยมนำไปทำอาหารได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะนำมาต้มกะทิ ผัดน้ำมันหอย ลวกจิ้มน้ำพริก หรือนำมาผัดกับไข่ ก็อร่อยค่ะ เพราะใบเหลียงไม่มีรสขม แต่มีความมัน เคี้ยวเพลิน เป็นผักประจำถิ่นใต้ มีมากทางแถบจังหวัดชุมพร ระนอง และมีทั่วทุกจังหวัดทางภาคใต้ค่ะ ฉะนั้นหากมาถิ่นใต้ ต้องทานผักเหลียงนะคะ


17ข้าวยำ

เมื่อกล่าวถึง ข้าวยำ ทุกคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก เพราะเป็นอาหารประจำวัฒนธรรมของพื้นที่นี้ บางสูตรอาจมีการหุงข้าวสีๆ เพื่อให้มีสีสันและน่ารับประทานมากขึ้นค่ะ ในข้าวยำจะประกอบไปด้วย ข้าวสวย ใบยอ ใบชะพลู ถั่วงอก ถั่วฝักยาว แตงกวา ตะไคร้ ถั่วพู กระถิน กุ้งแห้งป่น มะพร้าวคั่ว นำมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน บีบมะนาว และราดด้วยน้ำบูดู ที่มีความหอม หวาน เค็ม กลมกล่อม สดชื่น ยิ่งเคี้ยวยิ่งมัน เป็นอาหารสุขภาพประจำถิ่นใต้ค่ะ


18ปลาทรายทอดขมิ้น

ปลาทรายทอดขมิ้น เป็นอาหารภาคใต้ชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ปลาทะเลขนาดตัวไม่ใหญ่นักมาคลุกเคล้ากับขมิ้น เพื่อเพิ่มสีสันและกลิ่น รส ให้น่ารับประทาน รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการที่ได้จากขมิ้นไปในตัวได้อีกด้วย เพราะขมิ้นมีสรรพคุณหลายอย่าง ไม่ว่าจะขับลม ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ต้านอนุมูลอิสระ ดังนั้นขมิ้น จึงเป็นสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารภาคใต้แทบทุกเมนูค่ะ 


19ไข่ครอบ

ไข่ครอบ เป็นการถนอมอาหารของทางภาคใต้ โดยเฉพาะแถบทะเลสาบสงขลา เป็นการถนอมไข่ด้วยเกลือ ซึ่งเกิดจากการนำไข่ขาวมาย้อมแหหรืออวนที่ทำจากด้ายดิบเพื่อให้ใช้งานได้นานขึ้น ไข่แดงที่เหลือจึงนำมาแปรรูป โดยใช้ไข่แดง 2 ฟองต่อเปลือกไข่ 1 ฟอง เหยาะเกลือลงไป แล้วเอาเปลือกไข่อีกอันมาครอบ ทิ้งไว้หนึ่งคืนจึงนำไปนึ่ง มีรสชาติเค็มๆ มันๆ ทานกับข้าวสวย หรือแกงเผ็ดก็อร่อยมากค่ะ


20พริก

พริกที่มีรสเผ็ด เช่น พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า ในภาษาท้องถิ่นทางภาคใต้ของไทย ก็เรียกว่า ‘ ดีปลี ’ ค่ะ


เป็นยังไงกันบ้างคะ กับศัพท์อาหารใต้ที่ทีมงานวงในหาดใหญ่ เอามาฝากในวันนี้ อย่าลืมนะคะว่า ภาษาใต้ การออกเสียงต้องใส่ฟีลลิ่งเสียงสูงต่ำลงไปด้วย อิอิ ยังไงลองฝึกพูด ลองแแหลงใต้กันดู ถ้าพูดไม่ได้ยังไงก็ให้เพื่อนๆ ชาวใต้ ที่นั่งข้างๆ ช่วยสอนก็ได้น้า


แต่ถ้าใครเห็นภาพแล้วอยากทานเมนูไหน แนะนำให้มาหาดใหญ่สิคะ ร้านอาหารป่ายาง ร้านอาหารไทยพื้นบ้านทางภาคใต้ เปิดให้บริการมากว่า 18 ปีแล้ว เป็นสูตรอาหารใต้ขนานแท้ รสชาติภาคใต้แท้ๆ คัดสรรวัตถุดิบคุณภาพดีเยี่ยม พร้อมทั้งนำเสนอเมนูใหม่ๆ ที่มีความบ้านๆ ซึ่งหารับประทานได้ยาก มาให้ผู้ใช้บริการได้ลิ้มลอง เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่มีความชื่นชอบอาหารใต้รสจัดจ้าน และชอบในเอกลักษณ์แบบบ้านๆ ตามแบบฉบับของชาวป่ายางค่ะ 

ร้านเปิดบริการทุกวัน 11.00-22.00 น. 
เบอร์โทร 074-357737 
FB: ร้านอาหารป่ายาง 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น